โบท็อกเป็นหนึ่งในทรีตเมนต์ความงามที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยคุณสมบัติในการลดเลือนริ้วรอยและช่วยให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ขึ้น โบท็อกจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลผิวพรรณ โดยโบท็อกคือสารโบทูลินัมท็อกซินที่ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์และความงาม ด้วยการฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่ต้องการ ส่งผลให้ริ้วรอยตื้นขึ้นและผิวหน้าดูเรียบเนียนขึ้น นอกจากนี้ โบท็อกยังมีประโยชน์ในการรักษาอาการทางการแพทย์บางอย่าง เช่น อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
หัวข้อเกี่ยวกับการฉีดโบท็อก ที่ควรรู้และทำความเข้าใจก่อน สามารถเลือกอ่านได้เลยค่ะ
โบท็อก (Botox) คืออะไร ?
โบท็อก (Botox) คือชื่อทางการค้าของสารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ (Botulinum Toxin A) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ผลิตจากแบคทีเรียClostridium botulinum โบท็อกทำงานโดยการยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวและไม่สามารถหดตัวได้ชั่วคราว ในทางการแพทย์ใช้รักษาริ้วรอยบนใบหน้า บรรเทาอาการกล้ามเนื้อเกร็ง รักษาอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น โดยมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ของโบท็อกทั่วไปจะอยู่ได้ประมาณ 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้และบริเวณที่ฉีด
หลักการทำงานของโบท็อก ออกฤทธิ์อย่างไร?
เมื่อโบท็อกซ์ถูกฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อเป้าหมายโดยตรง ตัวยาจะแพร่กระจายไปยังปลายประสาทบริเวณที่ติดต่อกับกล้ามเนื้อเพื่อยับยั้งสารสื่อประสาทโดยขัดขวางการปล่อยอะเซทิลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อ เมื่อไม่มีอะเซทิลโคลีน สัญญาณจากสมองไปยังกล้ามเนื้อถูกตัดขาด กล้ามเนื้อจะไม่สามารถหดตัวได้ตามปกติ จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัวและอ่อนแรงลง ผลลัพธ์ที่ได้คือ ริ้วรอยบนผิวหนังลดลงเนื่องจากกล้ามเนื้อไม่หดตัวและกล้ามเนื้อที่เกร็งตัวคลายลง โดยผลของโบท็อกซ์จะอยู่ได้ประมาณ 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณและบริเวณที่ฉีด และเมื่อฤทธิ์ของโบท็อกซ์หมดลง ร่างกายจะสร้างจุดเชื่อมต่อประสาทกล้ามเนื้อใหม่ ทำให้กล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้ตามปกติ
โบท็อกเหมาะกับใครบ้าง ?
โบท็อกเหมาะสำหรับหลายกลุ่มคน ทั้งในแง่ความงามและการรักษาทางการแพทย์
1. ด้านความงาม
-
ผู้ที่มีริ้วรอยบนใบหน้า โดยเฉพาะรอยย่นระหว่างคิ้ว รอยเหี่ยวย่นรอบดวงตา และรอยย่นที่หน้าผาก
-
ผู้ที่ต้องการป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัย (อายุประมาณ 25-30 ปีขึ้นไป)
-
ผู้ที่ต้องการปรับรูปหน้าให้เรียวขึ้น เช่น ลดขนาดกราม เป็นต้น
-
ลดการหลังเหงื่อที่มากผิดปกติ บริเวณรักแร้ ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า
2. ด้านการแพทย์
-
ผู้ที่มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น คอเอียง ตาเหล่
-
ผู้ที่มีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)
-
ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง
-
ผู้ที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่
-
ผู้ที่มีอาการกัดฟันตอนนอน
บริเวณที่นิยมฉีดโบท็อก
-
ลดรอยเหี่ยวย่นบริเวณหน้าฝาก
-
ลดรอยย่นตรงกลางระหว่างคิ้ว
-
ลดรอยตีนกา
-
ลดรอยย่นบริเวณสันจมูก
-
ลดรอยย่นเหนือริมฝีปาก
-
ลดรอยเหี่ยวย่นบริเวณคาง
-
ลดขนาดกล้ามเนื้อกราม ทำให้ใบหน้าเรียวขึ้น
-
ลดรอยย่นแนวนอนบริเวณลำคอ
-
รักษาอาการเหงื่อออกมากเกินไปบริเวณรักแร้ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
-
บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน
-
กล้ามเนื้อแมสเซเตอร์ เพื่อลดอาการกัดฟัน และปรับรูปหน้าให้เรียวขึ้น
โบท็อกกี่วันถึงเห็นผล ?
การเห็นผลหลังจากฉีดโบท็อกซ์มีระยะเวลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเริ่มเห็นผลภายใน 5-7 วันหลังการฉีด โบท็อกริ้วรอยผลลัพธิ์จะชัดเจนประมาณ 7-14 วันหลังการฉีด โบท็อกกรามจะเห็นผลชัดเจนที่ 1-2 เดือนเป็นต้นไป ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้แก่ ปริมาณโบท็อกซ์ที่ใช้ บริเวณที่ฉีด สภาพผิวและกล้ามเนื้อของแต่ละบุคคล การตอบสนองของร่างกายต่อโบท็อกซ์ เป็นต้น
หลังฉีดโบท็อกอยู่ได้นานไหม ?
หลังฉีดโบท็อกอยู่ได้นาน 4-6 เดือน เพื่อคงสภาพผลลัพธ์หลังฉีด ควรมาเติมโบท็อกเพื่อคงสภาพผลลัพธ์ให้คงอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ควรฉีดถี่จนเกินไปเพราะจะทำให้ดื้อโบท็อก และไม่ควรเว้นช่วงการฉีดนานเกินไป เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อคืนสภาพ ทำให้การฉีดรอบต่อไปต้องใช้จำนวนโบท็อกที่มากขึ้นนั่นเอง
ฉีดโบท็อกที่ไหนดี ?
การเลือกสถานที่ฉีดโบท็อกที่ดีและเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุด ควรคำนึงถึงสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง คลินิกเฉพาะทางด้านผิวหนังและความงามที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและศัลยกรรมตกแต่งประจำ
สิ่งที่ควรพิจารณาร่วมด้วยคือ
-
ใบอนุญาตและการรับรองของสถานพยาบาล
-
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของแพทย์
-
ความสะอาดและมาตรฐานของสถานที่
-
ความโปร่งใสในการให้ข้อมูลและค่าใช้จ่าย
ข้อควรระวัง:
-
หลีกเลี่ยงการฉีดโบท็อกในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานพยาบาล เช่น ร้านเสริมสวย หรือสปา
-
ระวังโปรโมชั่นราคาถูกผิดปกติ ซึ่งอาจไม่ได้มาตรฐาน
ข้อควรปฏิบัติก่อนฉีดโบท็อก
ข้อควรปฏิบัติก่อนการฉีดโบท็อก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้:
1. ปรึกษาแพทย์ แจ้งประวัติการแพ้ยาและโรคประจำตัว แจ้งยาที่ใช้ประจำ รวมถึงอาหารเสริมและสมุนไพร
2. งดยาและอาหารเสริมบางชนิด 1-2 สัปดาห์ เช่น
-
ยาต้านการอักเสบ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
-
วิตามินอี และน้ำมันปลา
-
สมุนไพรที่มีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด เช่น กระเทียม ขิง โสม
3. งดการดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงก่อนการฉีด
4. ทำความสะอาดผิวหน้า ล้างหน้าให้สะอาด ไม่ควรแต่งหน้ามาในวันฉีด
5. ถ่ายรูปก่อนทำการรักษาเพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรักษา
6. แจ้งแผลหากทีแผลเปิด หรือแผลที่ติดเชื้อบริเวณอื่น
7. พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันที่เข้ารับบริการ
ข้อควรปฏิบัติหลังฉีดโบท็อก
การดูแลตัวเองหลังฉีดโบท็อกเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง คำแนะนำในการดูแลตัวเองหลังฉีดโบท็อกมีดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือนวดบริเวณที่ฉีด อย่างน้อย 4 ชั่วโมงหลังการฉีด เพื่อป้องกันการกระจายตัวของยา
2. ไม่ควรนอนราบหรือก้มหน้า ประมาณ 4 ชั่วโมงหลังฉีด
3. งดออกกำลังกายหนักๆ 24-48 ชั่วโมงหลังฉีด
4. งดการดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังการฉีด
5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสความร้อน เช่น อาบน้ำร้อน ซาวน่า หรืออบไอน้ำ ประมาณ 2 สัปดาดาห์แรก
6. สามารถใช้ความเย็นประคบ ถ้ามีอาการบวมหรือช้ำ ให้ใช้ถุงน้ำแข็งประคบเบาๆ
7. หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณที่ฉีด อย่างน้อย 24 ชั่วโมงแรก
8. ทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันผิวจากแสงแดดโดยใช้ครีมกันแดด SPF 30 ขึ้นไป
9. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอเพื่อช่วยในการขับสารพิษและลดอาการบวม
10. สังเกตอาการที่ผิดปกติ หากมีอาการแพ้หรือผิดปกติใดๆ ให้แจ้งแพทย์ทันที
11. ทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากมีการสั่งยาแก้ปวดหรือยาอื่นๆ
12. นอนหลับให้เพียงพอ
13. งดการทำทรีตเม้นต์บริเวณใบหน้า เช่น เลเซอร์ หรือการขัดผิว อย่างน้อย 2 สัปดาห์
14. ไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามผลและปรับแต่งเพิ่มเติมหากจำเป็น
ผลข้างเคียงหลังฉีดโบท็อก
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย:
1. รอยช้ำ หรือมีอาการบวมบริเวณที่ฉีด มักหายได้ภายใน 1-2 วัน
2. ปวดหรือเเสบร้อนเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด มักหายภายในไม่กี่ชั่วโมง
3. ปวดศีรษะอาจเกิดขึ้นในวันแรกหลังฉีด
4. คันบริเวณที่ฉีดมักเกิดขึ้นชั่วคราว
ผลข้างเคียงที่พบได้น้อยแต่ควรระวัง:
1. หนังตาตก เกิดจากการฉีดผิดตำแหน่งหรือการกระจายตัวของยา
2. อาการคล้ายไข้หวัด อาจเกิดขึ้นในบางราย แต่ไม่รุนแรง
3. กล้ามเนื้ออ่อนเเรงบริเวณใกล้เคียง เช่น กล้ามเนื้อรอบปาก หากฉีดบริเวณริมฝีปาก
4. ใบหน้าไม่สมมาตร เกิดจากการฉีดไม่สม่ำเสมอ
5. ปวดเมื่อยบริเวณคออาจเกิดขึ้นหากฉีดบริเวณคอ
ผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมากแต่รุนแรง:
1. อาการแพ้รุนแรง(anaphylaxis) มีอาการหายใจลำบาก บวมที่ใบหน้าหรือคอ
2. ปัญหาการกลืนหรือการหายใจ หากโบท็อกกระจายไปยังกล้ามเนื้อคอหรือลำคอ
3. การติดเชื้อ พบได้น้อยมาก มักเกิดจากการฉีดที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
หากพบอาการผิดปกติรุนแรงหรือกังวล ควรปรึกษาแพทย์ทันที การฉีดโบท็อกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงได้มาก